วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2556

การเสียกรุงครั้งที่ 2

การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง

การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง หรือ สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง เป็นความขัดแย้งทางทหารครั้งที่สอง ระหว่างราชวงศ์อลองพญาแห่งพม่า กับราชวงศ์บ้านพลูหลวงแห่งสยามในสมัยอาณาจักรอยุธยา ในการทัพครั้งนี้ กรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นราชธานีสยามยาวนานเกือบสี่ศตวรรษได้เสียแก่พม่าและถึง กาลสิ้นสุดลงไปด้วย เหตุการณ์ได้เกิดขึ้นเมื่อวันอังคาร ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 5 ปีกุน ตรงกับวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310[I] ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศแห่งอาณาจักรอยุธยา และพระเจ้ามังระแห่งอาณาจักรพม่า
ยุทธนาการนี้เป็นผลพวงของสงครามพระเจ้าอลองพญาเมื่อ พ.ศ. 2303 และก่อตัวขึ้นใน พ.ศ. 2308 เมื่อพม่าส่งกองทัพเข้ารุกรานอยุธยาเป็นสองทางแบบคีม ทัพพม่าพิชิตการป้องกันของฝ่ายอยุธยาที่ประกอบด้วยกำลังอันเหนือกว่าแต่ขาด การประสานงานกันได้ และเริ่มปิดล้อมกรุงศรีอยุธยานาน 14 เดือน[3][4] กระทั่งเดือนมีนาคม พ.ศ. 2310 พระเจ้าเอกทัศทรงยอมเป็นประเทศราชของพม่า แต่พม่าประสงค์ให้ยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข[5] ในที่สุด กองทัพพม่าหักเข้าพระนครได้เป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์ แล้วทำลายล้างพระนคร ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-พม่าเสื่อมลงจนถึงปัจจุบัน
การเสียกรุงครั้งนี้ นอกจากจะส่งผลให้อาณาจักรอยุธยาล่มสลายลงแล้ว ตะนาวศรีตอนใต้ยังได้ตกเป็นของพม่าเป็นการถาวร[2] และเกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมืองในระดับต่าง ๆ จนแทบนำไปสู่การล่มสลายของรัฐไทย[6] อย่างไรก็ดี พม่าจำต้องถอนกำลังส่วนใหญ่ในอาณาจักรอยุธยาเดิมกลับคืนประเทศไปเมื่อถูกจีนรุกราน จึงเป็นเหตุให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเถลิงอำนาจ ในรัชสมัยของพระองค์ ชาติก็ฟื้นกลับเป็นปึกแผ่นและรุ่งโรจน์อีกครั้ง ทั้งสยามยังสามารถขับพม่าออกจากแคว้นล้านนาได้นับแต่บัดนั้น

ประวัติ

เหตุวุ่นวายในราชสำนักปลายกรุงศรีอยุธยา

สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ พระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยานั้น มีพระนามเดิมว่า "กรมขุนอนุรักษ์มนตรี" เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ พระองค์แรก คือ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐสุริยวงศ์ หรือเจ้าฟ้ากุ้ง ผู้ต้องพระราชอาญาสิ้นพระชนม์ไปก่อนหน้านี้[7]
เมื่อถึงคราวที่ต้องเวนราชสมบัติ สมเด็จพระเจ้าบรมโกศไม่โปรดกรมขุนอนุรักษ์มนตรี[7] จึงทรงข้ามไปพระราชทานพระราชบัลลังก์ให้พระราชโอรสองค์ที่ 3 คือ เจ้าฟ้าอุทุมพร ผู้มีพระปรีชาสามารถมากกว่า แทน[7] ครั้นสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ เจ้าฟ้าอุทุมพรก็ราชาภิเษกเป็นสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร เสวยราชย์ได้ไม่ถึง 3 เดือน กรมขุนอนุรักษ์มนตรีก็ตั้งพระองค์เองขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง เป็นเหตุให้กรมหมื่นจิตรสุนทร, กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพภักดี พระเชษฐาและพระอนุชาร่วมพระชนก ซึ่งมักเรียกรวมกันว่า "เจ้าสามกรม" ทรงไม่พอพระทัยเป็นอันมาก และคิดกบฏ แต่ทรงถูกเจ้าฟ้าเอกทัศจับได้ ก่อนจะถูกประหารชีวิตทั้งสามพระองค์ ส่วนสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรนั้นทรงตัดสินพระทัยเลี่ยงไปผนวชเสียด้วยเหตุผล ส่วนพระองค์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรีจึงได้ราชสมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ[7]

สภาพบ้านเมืองรัชสมัยพระเจ้าเอกทัศ

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2301 สืบมา อันเป็นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศนั้น ได้มีหลักฐานบรรยายสภาพบ้านเมืองในช่วงเวลานั้นอยู่หลายมุมมอง หลักฐานฝ่ายไทยสมัยหลังส่วนใหญ่อธิบายไว้ทำนองเดียวกันว่า ในรัชสมัยนี้ ข้าราชการระส่ำระสาย บางคนลาออกจากราชการ และมีบาทหลวงฝรั่งเศสเขียนจดหมายเหตุว่า ในยามนั้น "...บ้านเมืองแปรปรวน เพราะฝ่ายใน [พระราชชายา] ได้มีอำนาจเท่ากับพระเจ้าแผ่นดิน ผู้มีความผิดฐานกบฏ ฆ่าคนตาย เอาไฟเผาบ้านเรือน จะต้องได้รับโทษถึงประหารชีวิต แต่ความโลภของฝ่ายในให้เปลี่ยนเป็นริบทรัพย์สิน ริบได้ก็ตกเป็นของฝ่ายในทั้งสิ้น พวกข้าราชการเห็นความโลภของฝ่ายใน ก็แสวงหาผลประโยชน์กับผู้ต้องหาคดีให้ได้มากที่สุดที่จะหาได้ จะได้แบ่งเอาบ้าง ความเดือดร้อนลำเค็ญก็ยิ่งทับถมราษฎรมากขึ้น..."[8] เป็นต้น ขณะที่หลักฐานอีกฝ่ายหนึ่งมีว่าไว้ถึงพระราชกิจของพระเจ้าเอกทัศที่ถูกมองข้าม[9] และมิได้มองว่า พระเจ้าเอกทัศทรงมีความประพฤติย่ำแย่เช่นนั้นเลย แต่ว่า พระองค์ "ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา บ้านเมืองสงบ การค้าขายเจริญ ทรงบริจาคทรัพย์ให้แก่คนยากจนจำนวนมาก"[10] เป็นต้น
ในแง่เศรษฐกิจ ความมั่งคั่งของอาณาจักรอยุธยาถดถอยลง เนื่องจากส่งของป่าออกไปขายให้ต่างประเทศได้ยากมาก อันของป่านี้เป็นสินค้าส่งออกสำคัญและสร้างรายได้ให้แก่รัฐบาลมานานนับ ศตวรรษ ทั้งนี้ เป็นผลพวงของการเปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านนโยบายทางการเมืองภายใน ที่ไม่เป็นมิตรกับชาวต่างชาตินับตั้งแต่เหตุประหารชีวิตคอนสแตนติน ฟอลคอนเมื่อ ต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวง ประกอบกับตลาดต่างประเทศมีความต้องการสินค้าเหล่านี้น้อยลง พ่อค้าจากมหาสมุทรอินเดีย จีน ญี่ปุ่น และชาติตะวันตกพากันลดการติดต่อซื้อขาย[11] นี้อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ระบบป้องกันอาณาจักรอยุธยาอ่อนแอก็เป็นได้

สงครามพระเจ้าอลองพญา

ใน พ.ศ. 2303 พระเจ้าอลองพญา ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์อลองพญา ทรงกรีฑาทัพมาชิงเอากรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ หมายจะแผ่พระราชอิทธิพลเข้าสู่ดินแดนมะริดและตะนาวศรี และกำจัดภัยคุกคามจากอยุธยาที่มักยั่วยุให้หัวเมืองชายขอบของพม่ากระด้าง กระเดื่องอยู่เสมอ[12] หรือไม่พระองค์ก็ทรงเห็นว่า อาณาจักรอยุธยามีความอ่อนแอ นับเป็นโอกาสอันดี[13] อนึ่ง ก่อนหน้านี้ อาณาจักรอยุธยาว่างเว้นการศึกกับพม่ามาเป็นเวลานานกว่า 150 ปีแล้ว[14] ทว่า กองทัพพม่าก็มิอาจเอาชัยเหนือกรุงศรีอยุธยาได้ในครานั้น เพราะพระเจ้าอลองพญาสวรรคาลัยกลางครัน กองทัพพม่าจึงต้องยกกลับไปเสียก่อน สำหรับเหตุแห่งการสวรรคตดังว่านั้น หลักฐานของฝ่ายไทยและฝ่ายพม่าบันทึกไว้แตกต่างกัน ไทยว่า สะเก็ดปืนแตกมาต้องพระองค์[15] ส่วนพม่าว่า ทรงพระประชวรโรคบิด[16]
สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ซึ่งตัดสินพระทัยปลีกพระองค์ไปผนวชเพื่อเลี่ยงความขัดแย้งในราชบัลลังก์นั้น เสด็จกลับมาราชาภิเษกอีกหนเพื่อบัญชาการรบ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของพระเจ้าเอกทัศ แต่เมื่อบ้านเมืองคืนสู่ความสงบ พระเจ้าเอกทัศก็ทรงแสดงพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์อีก สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรจึงตัดสินพระทัยผนวชไม่สึกอีกเลย แม้ในระหว่างการทัพคราวต่อมา จะมีราษฎรและข้าราชการทั้งหลายถวายฎีกาให้พระองค์ลาผนวชมาป้องกันบ้านเมือง ก็ตาม เพราะเหตุที่ผนวชถึงสองครั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรจึงทรงได้รับสมัญญาว่า "ขุนหลวงหาวัด"

สาเหตุของสงคราม

พระเจ้ามังระสืบราชย์ต่อจากพระเจ้ามังลอก พระเชษฐา ใน พ.ศ. 2306 และอาจนับได้ว่า พระเจ้ามังระมีพระราชดำริจะพิชิตดินแดนอยุธยานับแต่นั้น[17] ในคราวที่พระเจ้าอลงพญาเสด็จมารุกรานอาณาจักรอยุธยานั้น พระเจ้ามังระก็ทรงร่วมทัพมาด้วย หลังเสวยราชย์แล้ว ด้วยความที่ทรงมีประสบการณ์ในการณรงค์หนก่อน พระเจ้ามังระจึงทรงทราบจุดอ่อนของอาณาจักรอยุธยาพอสมควร และตระเตรียมงานสงครามไว้เป็นอันดี
ในรัชกาลพระเจ้ามังระ มีการปราบกบฏในแว่นแคว้นต่าง ๆ และพระองค์ก็ทรงเห็นความจำเป็นที่จะต้องลดอำนาจของกรุงศรีอยุธยาลง ถึงขนาดต้องให้แตกสลายหรืออ่อนแอไป เพื่อมิให้เป็นที่พึ่งของเหล่าหัวเมืองที่คิดตีตัวออกห่างได้อีก พระองค์ไม่มีพระราชประสงค์ในอันที่จะขยายอาณาเขตอย่างเคย ในเวลาไล่เลี่ยกัน หัวเมืองล้านนาและหัวเมืองทวายก็กระด้างกระเดื่องต่ออาณาจักรพม่า[18][19] พระเจ้ามังระจึงต้องทรงส่งรี้พลไปปราบกบฏเดี๋ยวนั้น ฝ่ายพม่าบันทึกว่า อยุธยาได้ส่งกำลังมาหนุนกบฏล้านนานี้ด้วย แต่พงศาวดารไทยระบุว่า ทหารอยุธยาไม่ได้ร่วมรบ เพราะพม่าปราบปรามกบฏเสร็จก่อนที่กองทัพอยุธยาจะไปถึง[20]
นอกจากนี้ คาดว่ามีสาเหตุอื่น ๆ อันนำไปสู่การสงครามกับอยุธยาด้วย เป็นต้นว่า อยุธยาไม่ส่งหุยตองจา ที่เป็นผู้นำกบฏมอญ คืนพม่าตามที่พม่าร้องขอ (ตามความเข้าใจของชาวกรุงเก่า)[21], พระเจ้ามังระหมายพระทัยจะเป็นใหญ่เสมอพระเจ้าบุเรงนอง[22], หลังพระเจ้าอลองพญารุกรานในครั้งก่อน มีการตกลงว่าฝ่ายอยุธยาจะถวายราชบรรณาการ แต่กลับบิดพลิ้ว (ปรากฏใน The Description of the Burmese Empire)[23] หรือไม่ก็พระเจ้ามังระมีพระดำริว่า อาณาจักรอยุธยาอ่อนแอ จึงสบโอกาสที่จะเข้าช่วงชิงเอาทรัพย์ศฤงคาร[24] และจะได้นำไปใช้เตรียมตัวรับศึกกับจีนด้วย[25]

การจัดเตรียม

ฝ่ายพม่า

ด้านแม่ทัพของพระเจ้ามังระกราบทูลให้ใช้การตีกระหนาบแบบคีมจากทั้งทางเหนือและทางใต้[26] ในพงศาวดารฉบับหอแก้วและคองบองได้ระบุว่า พระเจ้ามังระทรงดำริว่า หากจะส่งเนเมียวสีหบดีนำกองทัพไปทำสงครามกับอยุธยาเพียงด้านเดียวเห็นจะไม่ พอ จึงโปรดให้มังมหานรธานำทัพรุกรานมาอีกด้านหนึ่งด้วย[27] โดยก่อนหน้านั้น กองทัพทั้งสองได้รับมอบหมายให้บรรลุภารกิจอื่นเสียก่อน คือ การปราบกบฏต่อรัฐบาลพม่า ทั้งทางเหนือและทางใต้ ซึ่งจะเป็นการช่วยเสริมความสำเร็จให้แก่เป้าหมายหลักในการเข้าตีกรุง ศรีอยุธยา
ฝ่ายเนเมียวสีหบดีมีหน้าที่ปราบกบฏในแคว้นล้านนา กองทัพเนเมียวสีหบดีเคลื่อนไปกะเกณฑ์ผู้คนทางหัวเมืองฉาน โดยทหารฉานนั้นอยู่ภายใต้การนำของเจ้าฟ้าทั้งหลาย[28] อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่มีความสุขกับการเกณฑ์ทหาร เจ้าฟ้าบางคนในรัฐฉานทางเหนือหลบหนีไปเมืองจีน แล้วฟ้องแก่จักรพรรดิจีน[29][30] พอกะเกณฑ์คนได้แล้ว เนเมียวสีหบดีค่อยยกทัพจากเมืองเชียงตุงเข้าสู่เมืองเชียงใหม่ และสามารถปราบปรามกบฏลงได้อย่างราบคาบ และภายในฤดูฝนของ พ.ศ. 2307 ได้ยกขึ้นไปปราบเมืองล้านช้างได้ทั้งหมด และล้านช้างถูกบีบบังคับให้ส่งทหารเกณฑ์เข้าร่วมกองทัพฝ่ายเหนือด้วย[31] ก่อนจะมีจัดเตรียมการยกเข้าตีกรุงศรีอยุธยาที่เมืองลำปาง และเริ่มเคลื่อนทัพเมื่อฤดูแล้งของปี พ.ศ. 2308[32]
ขณะที่ทางเมืองพม่าได้เกิดกบฏขึ้นที่เมืองมณีปุระ พระเจ้ามังระตัดสินพระทัยไม่เรียกกองทัพกลับและทรงนำกองทัพไปปราบปรามกบฏ ด้วยพระองค์เองเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2307 เสร็จแล้วจึงทรงส่งกองทัพหนุนมาให้ฝ่ายใต้ ทำให้มีทหารเพิ่มขึ้นเป็น 30,000 นาย[33] ทำให้พม่ามีทหารทั้งสิ้น 50,000 นายในสองกองทัพ ซึ่งนับได้ว่าเป็นการระดมทหารครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง[34] นอกจากนี้ ฝ่ายพม่ายังมีกำลังปืนใหญ่ 200 นายที่เป็นทหารบริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศสที่ถูกจับเป็นเชลยเมื่อคราว พม่าเกิดศึกภายในด้วย
ฝ่ายทัพมังมหานรธา ราว พ.ศ. 2307 มีภารกิจที่ต้องปราบกบฏที่ทวาย ต่อมาสามารถโจมตีลึกเข้าไปถึงเพชรบุรีได้โดยสะดวก แต่ถูกขัดขวางต้องยกทัพกลับ แต่อยุธยาได้เสียทวายกับตะนาวศรีเป็นการถาวร[35] หลังจากที่ได้พักค้างฝนที่ทวายใน พ.ศ. 2308 พร้อมกะเกณฑ์ไพร่พลจากหงสาวดี เมาะตะมะ มะริด ทวายและตะนาวศรีเข้า สมทบในกองทัพ จนย่างเข้าหน้าแล้งของ พ.ศ. 2308 จึงได้เคลื่อนทัพเข้าสู่อาณาจักรอยุธยาตามนัดหมายในเวลาใกล้เคียงกับทัพของ เนเมียวสีหบดี[36]

แผนการรบ

แผนการรบฝ่ายพม่าส่วนใหญ่มาจากประสบการณ์ในสงครามพระเจ้าอลองพญา ประการแรก ในคราวนี้มีการวางแผนจะโจมตีหลายทางเพื่อกระจายการป้องกันที่มีกำลังพล มากกว่าของอยุธยา[26] พม่าจะหลีกเลี่ยงเส้นทางโจมตีเพียงด้านเดียวตามแนวชายฝั่งอ่าวไทยแคบ ๆ ซึ่งหากถูกฝ่ายอยุธยาพบแล้วจะถูกสกัดอย่างง่ายดายโดยฝ่ายอยุธยาที่มีกำลังพล มากกว่า ในสงครามคราวก่อน ฝ่ายพม่าถูกชะลอให้ต้องใช้เวลาเกือบสามเดือนเพื่อสู้รบออกจากแนวชายฝั่ง[37]
ประการที่สอง พม่าจะต้องเริ่มการรุกรานให้เร็วที่สุดเพื่อให้มีเวลาทำสงครามในฤดูแล้งให้ ได้นานที่สุด ในสงครามคราวที่แล้ว พระเจ้าอลองพญาเริ่มต้นรุกรานช้าเกินไป[38] ทำให้เมื่อกองทัพพม่ามาถึงกรุงศรีอยุธยาในเดือนเมษายน ก็เหลือเวลาเพียงเดือนเดียวก่อนที่จะถึงฤดูน้ำหลาก คราวนี้ฝ่ายพม่าจึงเริ่มต้นรุกรานตั้งแต่กลางฤดูฝน โดยหวังว่าจะไปถึงกรุงศรีอยุธยาในช่วงต้นฤดูแล้งพอดี[39]

ฝ่ายอยุธยา

ทางด้านการปฏิบัติของอาณาจักรอยุธยาระหว่างการทัพทั้งสองนั้น กษัตริย์อยุธยาได้ทรงส่งกองทัพมาช่วยเหลือเชียงใหม่ให้เป็นกบฏต่อพม่า และช่วยหัวเมืองมอญที่เมืองทวายให้ประกาศอิสรภาพ ทำให้กองทัพพม่าต้องส่งกองทัพไปตีดินแดนทั้งสองคืน เลยไปจนถึงอาณาจักรล้านช้าง เพื่อตัดชัยชนะของกรุงศรีอยุธยา[40] และในการรุกรานกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยพระเจ้ามังระ กองทัพอยุธยาก็ยังคงเตรียมตัวรับกองทัพพม่าในพระนครอีกเช่นเดิม[40]
พระเจ้าเอกทัศทรงระดมทหารครั้งใหญ่ในราชอาณาจักรตั้งแต่มังมหานรธายกกอง ทัพลงใต้มายึดทวายเป็นการถาวรเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2307 การป้องกันด้านทิศใต้ประกอบด้วยทหารมากกว่า 60,000 นาย ซึ่งพระเจ้าเอกทัศทรงวาง "กำลังที่ดีที่สุด" ไว้ตลอดทางตะวันตกของกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ด่านเจดีย์สามองค์มาจนถึงกาญจนบุรี ผ่านทวาย ไปจนถึงอ่าวไทยที่อยู่ทางใต้สุดเพื่อรับมือกับมังมหานรธา[41] ส่วนทางด้านทิศเหนือ แนวป้องกันหลักของอยุธยาเริ่มตั้งแต่สุโขทัยและพิษณุโลก ส่วนการป้องกันที่อยู่เหนือไปกว่านี้มีการจัดตั้งเป็นค่ายทหารขนาดเล็กโดยผู้นำท้องถิ่น[39][28]
ฝ่ายอยุธยายังคงเน้นการตั้งรับในพระนคร โดยใช้แผนตั้งรับจนถึงฤดูน้ำหลากแล้วรอจนกองทัพข้าศึกถอยทัพกลับไปเอง ยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้เอาชนะข้าศึกมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ ฝ่ายอยุธยายังมีเงินพอจะซื้อปืนคาบศิลาและปืนใหญ่ด้วย ปืนใหญ่บางกระบอกยาวถึง 9 เมตร และยิงลูกปืนใหญ่น้ำหนักกว่า 45 กิโลกรัม[42] และครั้งเมื่อพม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตก ทหารพม่าได้ไปพบปืนคาบศิลาใหม่กว่า 10,000 กระบอก และเครื่องกระสุนอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้ใช้ แม้ว่าจะอยู่ในระหว่างการล้อมนาน 14 เดือนก็ตาม[43] นอกจากนี้ ฝ่ายอยุธยายังได้มีการใช้ทหารรับจ้างต่างด้าวเพื่อเสริมทัพด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรปและชาวจีน โดยมีเรือรบอังกฤษอย่างน้อยหนึ่งลำถูกจัดให้ป้องกันด้านปีกด้วย[28]
นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวว่า รัฐบาลอยุธยาเองก็เห็นว่ายุทธศาสตร์การตั้งรับในพระนครเห็นจะไม่ไหว จำต้องไม่ให้ข้าศึกประชิดพระนครอย่างยุทธศาสตร์ของสมเด็จพระนเรศวร เพียงแต่ว่าระบบป้องกันตนเองของอยุธยามีจุดอ่อนมาก่อนแล้ว จึงทำให้รัฐบาลต้องเตรียมการป้องกันพระนครควบคู่ไปด้วย ดังที่เห็นได้จากการเตรียมเสบียงอาหารและเกณฑ์กองทัพหัวเมือง เพียงแต่ว่าการเกณฑ์กองทัพหัวเมืองได้ทหารจำนวนไม่มากนัก ซึ่งคงเป็นผลมาจากระบบป้องกันตนเองที่มีปัญหานั่นเอง[44] ตรงกันข้ามกับ สุเนตร ชุตินธรานนท์ ที่เห็นว่าทางการอยุธยายังคงใช้พระนครเป็นปราการรับข้าศึกตามยุทธศาสตร์เดิมแต่โบราณ[45]

การทัพ

การรุกรานช่วงฤดูฝน

กองทัพฝ่ายเหนือของอาณาจักรพม่า ภายใต้การบัญชาการของเนเมียวสีหบดี ได้จัดแบ่งกำลังพลออกเป็นทัพบกและทัพเรือ ทั้งหมดยกออกจากลำปางในเดือนกันยายน พ.ศ. 2308 ลงมาตามแม่น้ำวัง ซึ่งการรุกรานของกองทัพฝ่ายเหนือนั้นถูกชะลอลงอย่างมากเนื่องจากฤดูฝนและผู้ นำท้องถิ่น ทำให้เนเมียวสีหบดีต้องโจมตีเมืองแล้วเมืองเล่าไปตลอดทาง[39][28] ท้ายที่สุดแล้วก็ยึดได้เมืองตากและกำแพงเพชรเมื่อสิ้นฤดูฝน
ในเวลาเดียวกัน มังมหานรธาได้เปิดฉากการโจมตีจากทางใต้ในช่วงกลางเดือนตุลาคมโดยแบ่งการโจม ตีออกเป็นสามทาง กองทัพฝ่ายใต้ของพม่ามีทหาร 20,000 ถึง 30,000 นาย กองทัพขนาดเล็กถูกส่งผ่านด่านเจดีย์สามองค์มุ่งไปยังสุพรรณบุรี ส่วนกองทัพขนาดเล็กอีกกองหนึ่งรุกลงใต้ไปตามชายฝั่งตะนาวศรีมุ่งหน้าไปยัง มะริดและตะนาวศรี และกองทัพหลักฝ่ายใต้รุกรานผ่านด่านเมียตตา และกาญจนบุรีเสียแก่ข้าศึกโดยมีการต้านทานเพียงเล็กน้อย[46]
เหตุหลักที่กาญจนบุรีเสียแก่พม่าโดยง่ายนั้นอาจเป็นเพราะทหารพม่ากรำศึก กว่าทหารอยุธยา แต่ก็อาจอธิบายได้ว่าแม่ทัพอยุธยาคำนวณผิดพลาดถึงเส้นทางเดินทัพหลักของพม่า และไม่มีการเสริมกำลังอย่างเพียงพอเพื่อให้เมืองสามารถต้านทานการโจมตีขนาด ใหญ่ได้ หากตัดสินจากการรายงานเส้นทางโจมตีของฝ่ายพม่าจากพงศาวดารไทยแล้ว พบว่าแม่ทัพอยุธยาดูเหมือนจะเชื่อว่าเส้นทางโจมตีหลักของพม่าจพมาจากชายฝั่ง อ่าวไทย แทนที่จะเป็นเส้นทางที่สั้นและชัดเจนที่สุดผ่านทางกาญจนบุรี หลักฐานไทยระบุว่าเส้นทางโจมตีหลักของมังมหานรธามาจากตะนาวศรีตอนใต้ โดยข้ามเทือกเขาตะนาวศรีที่ชุมพรและเพชรบุรี[47][20] อันเป็นเส้นทางที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับเส้นทางกาญจนบุรีที่บันทึกไว้ ในพงศาวดารพม่า นักประวัติศาสตร์เกียว เติด ระบุเพิ่มเติมโดยเฉพาะว่าเส้นทางโจมตีหลักคือทางด่านเมียตตา[46]

การรุกรานช่วงฤดูแล้ง

หลังจากยึดกาญจนบุรีแล้ว กองทัพฝ่ายใต้ของมังมหานรธาเดินทัพต่อมายังอยุธยา และเผชิญการต้านทานเพียงเล็กน้อยจนกระทั่งมาถึงนนทบุรี ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงศรีอยุธยามาทางทิศใต้ 60 กิโลเมตร ซึ่งอยุธยาตั้งแนวป้องกันสำคัญขึ้นขัดเส้นทางมุ่งสู่พระนคร ฝ่ายอยุธยาใช้กองทัพบกและกองทัพเรือโจมตีค่ายพม่าร่วมกัน กองทัพเรือประกอบด้วยเรือรบหลายลำและเรืออังกฤษลำหนึ่งที่ใช้ยิงปืนใหญ่ถล่ม ที่ตั้งของพม่า แต่ทหารพม่าสามารถป้องกันค่ายไว้ได้ และทหารอยุธยาถอยทัพกลับไป ส่วนเรืออังกฤษลำนั้นหนีออกทะเลไป[28]
หลังจากนั้นกองทัพมังมหานรธาก็ไปเผชิญกับกองทัพอยุธยาที่มีกำลังพล 60,000 นายใกล้กับทางตะวันตกของกรุง แต่ถึงแม้ว่าจะมีกำลังต่างกันหลายเท่าก็ตาม ทหารพม่าที่กรำศึกกว่าก็สามารถเอาชนะได้ จนทหารอยุธยาต้องหนีกลับไปตั้งมั่นอยู่ในพระนคร[5] มังมหานรธาใช้เวลาเพียงสองเดือนก็มาถึงพระนคร แต่ต้องเคลื่อนทัพไปทางตะวันตกเฉียงเหนือเพราะกองทัพฝ่ายเหนือของเนเมียวสี หบดียังมาไม่ถึง เขาตั้งค่ายใหญ่ไว้ที่เจดีย์ซึ่งพระเจ้าบุเรงนองทรงสร้างไว้เมื่อสองศตวรรษ ก่อน[48]
ขณะเดียวกัน กองทัพฝ่ายเหนือของเนเมียวสีหบดียังคงติดอยู่ทางตอนเหนือของอยุธยา ถึงแม้ว่าอัตราการเคลื่อนทัพจะเร็วขึ้นมากแล้วหลังสิ้นฤดูฝน หลังจากยึดกำแพงเพชรได้แล้ว เนเมียวสีหบดีเปลี่ยนเส้นทางไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ และสามารถยึดหัวเมืองหลักทั้งเหนือคือ สุโขทัยและพิษณุโลกได้เป็นผลสำเร็จ (ส่วนในหลักฐานไทยไม่มีระบุว่า กองทัพพม่ายกเข้าตีเมืองพิษณุโลก[49]) ที่พิษณุโลก เนเมียวสีหบดีพักทัพไว้ระยะหนึ่งเพื่อฟื้นฟูกำลังทหารที่สูญเสียไปในการทัพ อันทรหดและโรคระบาด ผู้นำท้องถิ่นถูกบังคับให้ดื่มน้ำสาบานความภักดีและจัดหาทหารเกณฑ์ให้แก่ พม่า เช่นเดียวกับมังมหานรธาที่หาทหารเกณฑ์เพิ่มเติมจากในท้องที่นอกพระนครนั้น เอง[39][48]
ขณะที่พม่ากำลังฟื้นฟูกำลังทหารของตน ทางการไทยได้ส่งทหารอีกกองหนึ่งเพื่อมายึดพิษณุโลกคืน แต่ถูกตีแตกพ่ายกลับไปโดยประสบความสูญเสียอย่างหนัก นับเป็นความพยายามป้องกันครั้งสุดท้ายในทางเหนือ การป้องกันของอยุธยาพังทลายลงหลังจากนั้น กองทัพพม่าเคลื่อนลงมาทางเรือตามแม่น้ำน่าน ยึดได้เมืองพิชัย พิจิตร นครสวรรค์ ลงมาจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงอ่างทอง[20] เนเมียวสีหบดีมาถึงชานพระนครเมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2309 และสามารถติดต่อกับกองทัพมังมหานรธาได้[39]
ทางด้านในกรุงได้ส่งกองทัพออกไปรับกองทัพเนเมียวสีหบดีที่ปากน้ำประสบ ริมแม่น้ำลพบุรีเก่าหรือโพธิ์สามต้น มีพระยากูระติเป็นแม่ทัพบก พระยาคะรานหรือพระยากลาโหมเป็นแม่ทัพเรือ กองทัพอยุธยาถูกตีแตก พม่าสามารถริบไพร่พลและยุทธปัจจัยเป็นจำนวนมาก อีกทั้งพระยากลาโหมก็ตกเป็นเชลย แล้วจึงยกกองทัพมาตั้งยังปากน้ำประสบ ราวเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2309 ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น ในกรุงก็ได้ส่งพระยาพลเทพออกรับกองทัพมังมหานรธาที่เมืองสีกุก กองทัพพม่ารบชนะได้เคลื่อนไปตั้งยังหมู่บ้านกานนี[50] จนเมื่อทราบว่าทัพเนเมียวสีหบดีมาถึงชานพระนครแล้วจึงย้ายมาตั้งประชิดที่ด้านหลังของพระมหาเจดีย์ภูเขาทอง[51] ในระยะไม่เกิน 1.25 ไมล์จากกำแพงพระนคร[52] (ในพงศาวดารไทยบันทึกไว้ว่า ตั้งค่ายที่ตอกระออมและดงรักหนองขาว[53]) การเคลื่อนทัพของเนเมียวสีหบดีและมังมหานรธาได้แสดงให้เห็นถึงปฏิบัติการที่ ประสานและเกื้อหนุนแก่กัน เพราะต่างก็ร่วมดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อปิดกั้นให้อยุธยาตกอยู่ในสภาพที่จนตรอกคือ ช่วยกันทำลายหรือมิฉะนั้นก็ยึดครองหัวเมืองรอบนอก ไม่ให้มีโอกาสเข้ามาช่วยกู้กรุงศรีอยุธยา[54]
หลักที่กองทัพทั้งสองของพม่าใช้ในการปราบปรามหัวเมืองทั้งหลายนั้นตรงกัน คือ "หากเมืองใดต่อสู้ก็จะปล้นสะดมริบทรัพย์จับเชลย เป็นการลงโทษเมื่อตีเมืองได้ เมืองใดยอมอ่อนน้อมแต่โดยดีก็เพียงแต่กะเกณฑ์ผู้คนเสบียงอาหารใช้ในกองทัพ โดยไม่ลงโทษ" นอกจากนี้พม่ายังใช้การกระจายกำลังออกเกลี้ยกล่อมผู้คนพลเมืองทั่วไปในท้อง ถิ่นภาคกลางฝั่งตะวันตกลุ่มน้ำเจ้าพระยา จึงทำให้คนไทยที่เดือดร้อนไปเข้ากับพม่าเป็นอันมาก[55]

การล้อมกรุงศรีอยุธยา

แผนที่โดยสังเขป แสดงที่ตั้งของกองกำลังฝ่ายเหนือของพม่าในสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ราว พ.ศ. 2309
พระเจ้าเอกทัศโปรดให้รวบรวมประชาชนและเสบียงเข้ามาไว้ในพระนคร และเตรียมการป้องกันไว้อย่างแน่นหนา โดยรอคอยฤดูน้ำหลากและอาศัยยุทธวิธีคอยตีซ้ำเมื่อกองทัพพม่าถอนกำลังออกไป อย่างไรก็ตาม ฝ่ายอยุธยาก็มิได้ตั้งรับอยู่ในพระนครแต่เพียงฝ่ายเดียว ยังส่งกำลังออกไปโจมตีค่ายเนเมียวสีหบดีและค่ายมังมหานรธาอยู่หลายครั้ง[56] ส่วนทางด้านกองทัพพม่ากระจายกำลังออกล้อมกรุงเอาไว้ทุกด้าน พยายามเข้าประชิดกำแพงพระนครหลายครั้งก็ไม่ประสบผล จึงยังมีราษฎรหลบหนีภัยพม่าเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงอยู่เสมอ สำหรับเสบียงอาหารในกรุงก็ยังคงบริบูรณ์ดีอยู่ ดังปรากฏในจดหมายเหตุของบาทหลวงฝรั่งเศสว่า "...เมื่อพม่าเข้าตั้งประชิด พระนครและล้อมกรุงอย่างกวดขันขึ้นตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2309 นั้น เสบียงอาหารในกรุงก็ยังบริบูรณ์ดี มีแต่ขอทานเท่านั้นที่อดตาย..."[57]
เมื่อฤดูน้ำหลากใกล้เข้ามา แม่ทัพพม่าบางส่วนเห็นว่าควรจะล้มเลิกการรุกรานเสีย แต่มังมหานรธาและเนเมียวสีหบดีไม่เห็นด้วย และกองทัพพม่าเตรียมพร้อมรับการไหลหลากของน้ำด้วยการสร้างเรือและเขื่อนบน ที่สูง[58] ครั้นเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก มังมหานรธาให้กองทัพรวบรวมเสบียงอาหารสำรองไว้ใช้ ให้ทหารปลูกข้าวในที่นาละแวกใกล้เคียง[59] ระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ทหารพม่าถูกแบ่งแยกเป็นหลายส่วนบนเกาะประดิษฐ์เหล่านั้น[58] ในระหว่างวันที่ 5-10 หลังฤดูน้ำหลากเริ่มต้น เรืออยุธยาถูกส่งออกไปโจมตีค่ายมังมหานรธาและค่ายเนเมียวสีหบดี ครั้งแรกมีพระยาตาน และครั้งที่สองมีพระยากูระติเป็นแม่ทัพตามลำดับ[60] ในการรบคราวแรกนั้นพระยาตานถูกยิงด้วยปืนคาบศิลา และกองเรือที่ถูกส่งออกมานั้นก็หนีกลับเข้าพระนคร ส่วนในการเผชิญหน้าอีกคราวหนึ่งนั้น ปืนใหญ่อยุธยาสามารถทำลายเรือพม่าได้สองลำ พร้อมฆ่าทหารไปหลายนาย[42]
หลังฤดูน้ำหลากผ่านพ้นไป อยุธยาพยายามที่จะตีค่ายพม่าพร้อมกับสร้างแนวปะทะใหม่ขึ้น โดยส่งพระยาไต๊ตีค่ายมังมหานรธา และส่งพระยาพระนริศตีค่ายเนเมียวสีหบดี แต่ก็ถูกตีแตกกลับมาทั้งสองทาง พระเจ้าเอกทัศจึงโปรดให้เพิ่มการป้องกันให้แน่นหนาขึ้น และที่สำคัญที่สุด คือ การสร้างค่ายล้อมกรุงเอาไว้ทุกด้าน[61] ฝ่ายพม่าก็พยายามเคลื่อนเข้าใกล้กำแพงพระนครขึ้นทุกขณะ เมื่อถึงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2309 ฝ่ายพม่าก็เข้ามาตั้งติดกำแพงพระนครห่างกันเพียงแค่ระยะปืนใหญ่[62] ส่วนฝ่ายพม่าได้ก่อมูลดินขึ้นรอบพระนคร โดยบางกองนั้นสูงกว่ากำแพงเมือง แล้วยิงปืนใหญ่เข้าไปในกรุงและพระราชวัง[42] ปลายปี พ.ศ. 2309 พระยาตากและพระยาเพชรบุรีนำกำลังทางน้ำไปโจมตีเพื่อปลดปล่อยวงล้อม แต่ประสบความพ่ายแพ้ พระยาเพชรบุรีก็เสียชีวิตในที่รบ พระยาตากซึ่งถูกประณามว่าเป็นต้นเหตุของความพ่ายแพ้คราวนั้น ก็นำทหารของตัวฝ่าวงล้อมไปทางตะวันออก ในระหว่างที่อยู่ภายใต้วงล้อมนี้ การวางแนวปะทะของอยุธยาไม่สามารถพลิกผลของสถานการณ์ได้เลย ในพระนครเริ่มขาดแคลนอาหาร ประสิทธิภาพและขวัญกำลังใจของกองทัพตกต่ำ ช่วงต้นปี พ.ศ. 2310 เกิดเพลิงไหม้ในพระนครซึ่งเผาผลาญบ้านเรือนไปกว่า 10,000 หลังคาเรือน[5]
มังมหานรธาเสนอในที่ประชุมแม่ทัพนายกองแนะให้ใช้อุบายลอบขุดอุโมงค์เข้า ไปในกรุง พร้อมกับสร้างค่ายทหารขึ้น 27 ค่ายล้อมรอบพระนคร ซึ่งรวมไปถึงเพนียด วัดสามพิหาร วัดมณฑบ วัดนางปลื้ม และวัดศรีโพธิ์ เพื่อจะได้ยิงปืนใหญ่ด้วยความแม่นยำยิ่งขึ้น[63] อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่กองทัพหัวเมืองทางเหนือราว 20,000 นาย มาช่วยอยุธยา แต่ก็ถูกตีแตกกลับไปอย่างง่ายดาย[64]
ระหว่างเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310 ทหารพม่าก็เริ่มการขุดอุโมงค์ด้านหัวรอจำนวน 5 แห่งอย่างเป็นขั้นตอน[65] โดยตั้งค่ายใหม่เพิ่มอีก 3 แห่ง พร้อมกับยึดค่ายป้องกันพระนครทางเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด และยึดค่ายป้องกันทางด้านทิศใต้ภายในเดือนมีนาคม[66] ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2310 พระเจ้าเอกทัศทรงแต่งทูตออกไปเจรจาขอเป็นเมืองขึ้นของพม่า แต่แม่ทัพพม่าก็ปฏิเสธ โดยอ้างพระบรมราชโองการของพระเจ้ามังระ[67] และต้องการการยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไข[5] มังมหานรธาเสียชีวิตในช่วงนี้ และพระเจ้ามังระมีพระราชโองการให้ฝังศพอย่างสมเกียรติเป็นพิเศษ หลังจากนี้เนเมียวสีหบดีก็ได้เป็นแม่ทัพใหญ่พม่าแต่เพียงผู้เดียว[42]
ต่อมา ฝ่ายเนเมียวสีหบดีก็เสนอแก่นายกองทั้งหลายให้ใช้ไฟสุมเผารากกำแพงเมืองจาก ใต้อุโมงค์ซึ่งขุดไว้แล้ว จากนั้นก็ตกลงกันเตรียมเชื้อเพลิงและกำลังพลไว้พร้อม[68]

เสียกรุง

ครั้นถึงวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310[I] เวลาประมาณบ่ายสามโมง พม่าจุดไฟสุมรากกำแพงเมืองตรงหัวรอที่ริมป้อมมหาชัย และยิงปืนใหญ่ระดมเข้าไปในพระนคร จากบรรดาค่ายที่รายล้อมทุกค่าย พอเพลาพลบค่ำกำแพงเมืองตรงที่เอาไฟสุมทรุดลง เวลา 2 ทุ่ม แม่ทัพพม่ายิงปืนเป็นสัญญาณให้ทหารเข้าพระนครพร้อมกันทุกด้าน พม่าเอาบันไดปีนพาดเข้ามาได้ตรงที่กำแพงทรุดนั้นก่อน ทหารอยุธยาที่รักษาหน้าที่เหลือกำลังจะต่อสู้ พม่าก็สามารถเข้าพระนครได้ในเวลาค่ำวันนั้นทุกทาง[69]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น